การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 28 เม.ย. จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ… วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนที่อยู่เดิมในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุถึงเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันว่า “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน…….ซึ่งมีรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้
มาตรา 4
“ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท”
มาตรา 5
กำหนดว่า ถ้าผู้ใดกระทำผิดใน 5 ประการ ได้แก่1.การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน2.นำมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะไปเปิดเผยโดยมิชอบ3.ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน4.ดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และ5.ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว
ทั้งหมดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 140,000 บาท ที่สำคัญ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท
ส่วนเรื่องการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความเสียหายให้กับบุคคล ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้มีกระบวนการจัดการกับผู้กระทำความผิดเข้มข้นมากขึ้นด้วย
โดนบัญญัติในมาตรา 10 ว่า “ผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นและภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท”
มาตรา 10 ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้นโดยให้ผู้กระทำผิดต้องรับทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ จากเดิมที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กำหนดการกระทำความผิดในลักษณะที่ว่านั้นด้วยการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน ในร่างกฎหมายที่ ครม.เสนอให้ สนช.พิจารณา ยังได้บัญญัติมาตรการทางศาลเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายด้วย โดยมาตรา 11 ระบุว่า “ในคดีซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(1) ให้ยึดและทำลายข้อมูล
(2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่อที่ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา”
เช่นเดียวกับ มาตรา 20 ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแต่งตั้ง ยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในที่นี้มีด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
(1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้
(2) ข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 ตามประมวลกฎหมายอาญา
(3) ข้อที่เป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นได้ร้องขอ และข้อมูลนั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(4) ข้อมูลที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรืออันดีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รัฐมนตรีมีมติเป็นเอกฉันท์
ชำแหละ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่เปิดช่อง “รมว.ไอซีที” คุมเบ็ดเสร็จทั้งอินเทอร์เน็ต-โซเชียลมีเดีย นักกฎหมายระบุอำนาจล้นฟ้า ตั้ง 2 คณะกรรมการกำกับ สั่งปรับ “คดีแฮก” ไม่ต้องขึ้นศาล ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์ สั่ง “บล็อกเนื้อหา” ได้ทุกประเภทเพื่อความสงบเรียบร้อย จ่อเข้า “สนช.” ศุกร์หน้า
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ และมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (19 เม.ย. 2559) มีความน่ากังวลหลายประเด็นแม้ว่าในภาพรวมจะมีการแก้ไขในประเด็นที่ร่างฉบับก่อนหน้านี้โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และที่น่าจับตาคือ มีการดึงอำนาจกลับไปให้รัฐมนตรีไอซีที หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังจะตั้งขึ้นเยอะมาก จนเรียกว่า เกือบควบคุมระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งบางประเด็นยอมรับได้ แต่ในหลายประเด็นถือว่าน่ากลัวมาก
ตั้ง 2 คณะกรรมการอำนาจล้น
นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ มาตรา 17/1 ให้อำนาจรัฐมนตรีไอซีทีตั้ง “คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ” ซึ่งกลายเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจมากกว่าศาล เนื่องจากระบุว่าหากเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจสั่งปรับได้โดยไม่ต้องนำคดีไปศาล และคดีก็จะถือว่าสิ้นสุด
สำหรับความผิดภายใต้กรอบนี้มี 3 มาตรา คือ มาตรา 5 และมาตรา 7 คือการแฮกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โทษจำคุก 2 ปี กับความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยรหัสลับ ตามมาตรา 6 ตามกฎหมายคือโทษจำคุก 1 ปี ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง จากเดิมที่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล แต่กฎหมายใหม่ให้ส่งไปคณะกรรมการชุดนี้ปรับแล้วคดีจบทันที ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการกระทำผิดหลายกรณีที่มีมูลค่าความเสียหายสูง อาทิ กรณีแฮกระบบ เติมเงินของโทรศัพท์มือถือ แล้วขโมยเงินไปได้หลายล้านบาท เท่ากับยกคดีที่มีมูลค่า เสียหายทางเศรษฐกิจไปให้คนกลุ่มหนึ่งชี้ขาดแทนศาล โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง กระบวนการอุทธรณ์ และฎีกา ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำกัน
“ถ้ามองในแง่ร้ายจะกลายเป็นว่าเอาอำนาจตุลาการ อำนาจศาลมาอยู่ในรัฐมนตรีกับคณะกรรมการชุดนี้ แต่ร่างกฎหมายใหม่ของไทยกำลังจะบอกว่าความผิดแบบนี้จบได้ที่คณะกรรมการชุดนี้ และ ที่น่ากังวลมาก คือ ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการไว้ โดยให้ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีไอซีทีกำหนด ทั้งให้ถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย และที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมามีปัญหาตลอด ถือว่าเป็นความล้มเหลวได้ ทั้งการตั้งโดยตำแหน่ง ไม่ได้มาจากความรู้ ความสามารถ ถ้ามองในแง่ดีคืออาจไม่อยาก ให้คดีรกศาล หรือปิดคดีได้เร็วขึ้น แต่พอรวมให้คดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีมาอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย จึงมีคดีการแฮกข้อมูลด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ และเป็นวัตถุประสงค์หลักของการมี พ.ร.บ.นี้ จึงเป็นเรื่องน่ากลัว” นายไพบูลย์กล่าว
ขณะที่มาตรา 20 เรื่องการบล็อกเว็บไซต์ เดิมจะบล็อกได้เฉพาะความมั่นคงและความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ มาตรา 20 (3) บล็อกเนื้อหาที่ผิดทางอาญาตามกฎหมายอื่น และมาตรา 20 (4) บล็อกเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายอื่น แต่ขัด ความสงบเรียบร้อย สามารถร้องพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วส่งให้รัฐมนตรีเซ็นเพื่อขอให้ศาลสั่งบล็อกเว็บไซต์ได้เลย ทำให้ทุกความผิดอาญาในการบล็อกเนื้อหาจะใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แทน โดยตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล” เพิ่มขึ้นมาโดยรัฐมนตรีไอซีทีเป็นผู้ตั้ง มีอำนาจในการวินิจฉัยบล็อกเว็บไซต์ได้
“เท่ากับว่าแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่โอเค คณะกรรมการชุดนี้สั่งบล็อกได้ เท่ากับปิดได้หมดทุกโซเชียลมีเดีย เข้าใจว่าตอนนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการปราบปรามการแพร่ข้อมูลผ่านสื่อใหม่เยอะ มาตรา 20 (4) ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ แต่จะมีคำถามเดิม คือ คณะกรรมการเป็นใครมาจากไหน เพราะคนกลุ่มนี้มีอำนาจปิดบล็อกทุกอย่างในประเทศนี้”
และการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ กระบวนการอุทธรณ์จึงไม่มี ช่องทางทำได้เลย ไม่สามารถโต้แย้งได้ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด
ทั้งนี้การที่ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติ และความรับผิดใด ๆ ของคณะกรรมการชุดนี้ แม้ต่อไปจะบอกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงมารองรับ แต่ก็เป็นอำนาจเด็ดขาดของรัฐมนตรีที่จะออกประกาศอะไรก็ได้
อุดช่องโหว่ปัญหา “สแปม”
นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนที่แก้ไขได้ดีขึ้น คือ การปิดข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาสแปม หรือการส่งข้อความไม่พึงประสงค์ ซึ่งร่างเดิมระบุว่า หากมีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออีเมล์ โดยไม่ได้เปิดให้ผู้รับแสดงเจตนาปฏิเสธได้ จะถือว่าเป็นความผิด โทษปรับถึง 2 แสนบาท ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะการส่งข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่มีฟังก์ชั่นให้ผู้รับแจ้งได้ว่าจะรับหรือไม่รับข้อความ ทำให้ผู้ส่งมีความผิดได้ทันที
“ร่างฉบับใหม่มีการปรับแก้ โดยให้รัฐมนตรีไอซีทีออกประกาศแนวทางว่าการรับส่งข้อมูลแบบไหนที่ไม่เข้าข่าย ม.11 สามารถระบุได้ว่า การส่งข้อความผ่านโซเชียล มีเดียแบบไหนที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่น่ากังวล คือ ผู้จัดทำร่างประกาศ ทีมงานของรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจถึงเรื่องพวกนี้มากแค่ไหน”
ส่วนปัญหามาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ร่างฉบับใหม่ เพิ่มคำว่า “โดยทุจริตกับโดยหลอกลวง” ทำให้ปัญหาของมาตรานี้ ที่เกรงว่าจะถูกนำไปใช้ในคดีหมิ่นประมาทถูกตัดไป ทำให้กลายเป็นความผิดกรณี “ฟิชชิ่ง” คือ ต้องเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่ประชาชนโดยการหลอกลวง ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ซึ่งจะตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายมากกว่า ขณะเดียวกันยังนำความผิดในการเผยแพร่เกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารกลับเข้ามาใหม่ โดยรวมถือว่าพอยอมรับได้
ขณะที่มาตรา 15 ว่าด้วยความผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หรือเจ้าของเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น จะต้องเป็นผู้รับผิดจากการยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ ร่างฉบับใหม่ได้แก้ให้อำนาจรัฐมนตรีไอซีที ออกประกาศว่าต้องมีกรอบ ขั้นตอนอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้ไม่ผิดตามมาตรานี้ แต่ประกาศจะออกมาอย่างไร ยังเป็นคำถาม ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะทำงานว่าเข้าใจประเด็นต่าง ๆ มากแค่ไหน เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐมนตรีมีอำนาจเข้าไประบุได้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียของทุกคน เขียนอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง คือ โดยเจตนารมณ์ดี แต่ถ้ามีประกาศที่ห้ามไปหมดทุกอย่างก็จะกลายเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้
แก้ไม่ตรงจุดฉุดธุรกิจ
ด้านนางภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการเว็บโฮสติ้ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชมรมเห็นประโยชน์ของการมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะอาชญากรรมในโลกออนไลน์ส่งผล กระทบกับการทำงานของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ หากมีกฎหมายออกมาช่วยได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรโฟกัสเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ การสร้างความเสียหายกับระบบต่าง ๆ ไม่ควรรวมถึงเรื่องคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์, การพนัน หรือยาเสพติด เป็นต้น เนื่องจากเป็นการผลักภาระมาที่ ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการทำลายธุรกิจ และผลักดันให้หนีไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ เพราะหากเปิดในประเทศยุ่งยาก
“เราอยากให้มีกฎหมายเกี่ยวกับคอนเทนต์ แยกต่างหากออกมา ไม่ควรไปรวมอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพ์ ถ้ากฎหมายไม่เอื้อต่อธุรกิจ ก็ต้องหนีไปที่อื่น ไม่ใช่ปิดธุรกิจแต่ย้ายฐาน ไปที่อื่น นี่คือสาเหตุที่ต่างชาติไม่เข้ามา ลงทุนในบ้านเราด้วย ซึ่งสวนทางกับนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายควรมองอย่างรอบด้าน และมีความเข้าใจเทคโนโลยี เพราะถ้าไม่ถูกจุดนอกจากจะจับผู้ร้ายไม่ได้แล้วยังทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ด้วย”
พลเมืองเน็ตชี้ขัดหลัก กม.
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ น่าจะเป็นความพยายาม ของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายที่มองว่ามีคดีไปที่ศาลเยอะซึ่งเสียเวลานาน จึงต้องการพยายามที่จะนำคดีที่มีโทษปรับ หรือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี มาอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อลดภาระของศาล อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งคณะกรรมการ ตามอำนาจ รมว. ไอซีที ที่น่ากังวลคือกฎหมายไม่มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของคณะกรรมการเลย
นอกจากนี้ในส่วนแก้ไขมาตรา 20 ส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุด ได้แก่ มาตรา 20 (4) ที่มีการเพิ่มความผิดเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ “ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น” อันมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับทำการแพร่หลายคือลบข้อมูลได้นั้น ประเด็นนี้ในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหา เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักการกระทำ ความผิดโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งนำไปสู่ การระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และยังอาจทำให้ผู้ให้บริการ ISP เลือกที่จะถอดเนื้อหาที่ถูกฟ้องร้องออกจาก เว็บไซต์ของตนโดยไม่รอคำสั่งศาลเพื่อความปลอดภัย
รมว.ไอซีทีเตรียมชี้แจง สนช.เอง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …ที่มีการทบทวนใหม่โดยกระทรวงไอซีที และร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.ศ. …และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
โดยขณะนี้ได้เตรียมตัวสำหรับการชี้แจงหลักการของการยกร่างกฎหมายแต่ละฉบับด้วยตนเอง หาก สนช.เห็นชอบก็จะถือว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับผ่านการพิจารณาวาระแรก จากนั้นจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับเป็นรายมาตรา เพื่อให้มีการปรับแก้ ก่อนส่งกลับให้ สนช.ลงมติในการพิจารณาวาระที่ 3 และเตรียมประกาศบังคับใช้ต่อไป
“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลาแค่ไหนก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ ต้องหารือกับวิป สนช.ก่อน แต่จะดำเนินการให้เร็วและรอบคอบที่สุด”
รัฐมนตรีไอซีทีกล่าวว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะฉบับเก่าประกาศใช้มาหลายปีแล้ว โดยมุ่งให้ส่งเสริม และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล จึงต้องประสานเชื่อมต่อกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม อาทิ ปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา การพนันออนไลน์
“การแก้ไขครั้งนี้ได้ทำให้มีความชัดเจนขึ้นในหลายมาตรา อาทิ ที่เกี่ยวกับการทุจริตฉ้อโกง เพราะกำลังจะส่งเสริมให้มีการค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เข้าศาลแล้วก็หลุดเยอะ ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อผู้ขาย รวมถึงส่วนของอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องให้ชัดเจน เพราะเป็นประเด็นที่มีการถามเยอะว่า มีน้อยไป มากไปหรือไม่ ก็เข้าใจว่าต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีส่วนไหนของกฎหมายขัดกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเด็ดขาด”
กรณีที่มีข้อกังวลเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่รัฐมนตรีไอซีทีจะตั้งขึ้น 2 ชุด ยืนยันว่าจะมีการออกกฎหมายลูกมารองรับให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ใช้แค่ดุลพินิจของรัฐมนตรีไอซีทีเท่านั้น ต้องให้ ครม.เห็นชอบด้วย เพราะต้องออกแบบเผื่อไว้สำหรับรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป จึงต้องมีหลักการที่ชัดเจน
“ยืนยันว่ากระบวนการทางศาลทุกอย่างยังเหมือนเดิม การดำเนินคดี การบล็อกเว็บไซต์หรือข้อมูลต่าง ๆ ต้องไปจบที่ศาล เพียงแต่จะมีการทำบางกระบวนการให้กระชับขึ้นเท่านั้น”